รูปแบบของเมนบอร์ด ATX, EATX, Micro-ATX, Mini-ITX, DTX และ Mini-DTX ต่างกันอย่างไร?

Tee Padungsak
3 min readAug 7, 2020

--

เมนบอร์ด (Mainboard) แต่ละรูปแบบต่างกันอย่างไร?

เมนบอร์ด (Mainboard) หรือที่ต่างประเทศนิยมเรียกว่ามาเธอร์บอร์ด (Motherboard) เป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องคอมพิวเตอร์ มันคือแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีช่องซ็อกเก็ตเอาไว้สำหรับนำซีพียู, แรม, หน่วยความจำ ฯลฯ มาเสียบ เพื่อให้พวกมันสามารถทำงานร่วมกันได้

เมนบอร์ดจะมีเฟิร์มแวร์ควบคุมการทำงานอยู่ในตัวเองด้วย ซึ่งก็คือ BIOS นั่นเอง

รูปแบบของเมนบอร์ดนั้นมีอยู่หลากหลายรูปแบบมาก โดยหลักๆ แล้วจะแบ่งประเภทตามขนาดของตัวบอร์ด แน่นอนว่าบอร์ดที่มีขนาดเล็กก็จะมีจำนวนช่องซ็อกเก็ตน้อยกว่าบอร์ดตัวใหญ่ๆ ซึ่งชื่อเรียกของเมนบอร์ดก็จะบ่งบอกถึงขนาดของมันนี่แหละ

เราขออนุญาตแนะนำเฉพาะรูปแบบเมนบอร์ดที่นิยมใช้งานกันทั่วไปนะ หากมีตกหล่นบางรูปแบบไปบ้าง ก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ความแตกต่างระหว่าง ATX, Micro ATX และ Mini-ITX

สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป จะมีเมนบอร์ดที่นิยมใช้งานอยู่ 3 แบบ คือ ATX, Micro-ATX (บางทีก็เรียก mATX หรือ uATX) และ Mini ITX (เรียกตามภาพจากซ้ายไปขวา) โดยเมนบอร์ด ATX (Advanced Technology eXtended) มีความแพร่หลายมากที่สุด พัฒนาโดย Intel ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 ยังคงนิยมใช้งานกันมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ และยังถูกใช้เป็นรากฐานในการออกแบบเมนบอร์ดขนาดเล็กอย่างพวก Micro-ATX (เปิดตัว 1997), FlexATX, nano-ITX และ mini-ITX (เปิดตัว 2001) อีกด้วย

ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติระหว่าง ATX, Micro ATX และ Mini ITX

จากตารางด้านบน เราจะเห็นได้ว่า ATX กับ mATX จะมีขนาดใกล้เคียงกันมาก โดย mATX จะสั้นกว่าแค่นิดหน่อย ทำให้มีจำนวนช่อง PCIe น้อยกว่าตามไปด้วย

ส่วน Mini-ITX จะมีความแตกต่างออกไปอย่างชัดเจน มันมีขนาดที่เล็กมาก ทำให้มีจำนวนช่องเสียบต่างๆ น้อยมาก แรมก็มักจะนิยมใช้แบบ SODIMM (แรมขนาดเล็กที่ใช้ในโน๊ตบุ๊ค) เพื่อประหยัดพื้นที่

ขนาดของเมนบอร์ดจะเป็นตัวแปรสำคัญของขนาดเคส และขนาดเคสก็ยังส่งผลต่อฮาร์ดแวร์อื่นๆ ที่เราสามารถเลือกใช้อีกด้วย

โดยปกติแล้ว ATX จะติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มได้เกือบทุกรูปแบบโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่หากเราใช้ Mini-ITX เนี่ย ข้อจำกัดจะค่อนข้างเยอะ เอาง่ายๆ แค่การ์ดจอ หากต้องการใช้ก็ต้องดูรุ่นที่เป็นแบบ Mini พัดลมเดียวเท่านั้น เนื่องจากเคสจะเล็กมาก ทำให้พื้นที่ไม่พอที่จะใส่การ์ดจอตัวใหญ่ๆ ได้ (คงไม่มีใช้เมนบอร์ด Mini-ITX กับเคสใหญ่ๆ หรอกนะ)

เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ระหว่าง ATX, Micro ATX และ Mini-ITX

นอกจากนี้ยังมีเรื่องจำนวนพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ อีกด้วย เช่น หากเราต้องการพอร์ต USB เยอะๆ เมนบอร์ดแบบ Mini-ITX ก็จะมีจำนวนช่องให้น้อยกว่าแบบ ATX อยู่พอสมควรเลย ดังนั้น จะใช้รูปแบบไหน ควรพิจารณาลักษณะการใช้งานของเราให้ดีก่อนด้วยนะ

เมนบอร์ดรูปแบบอื่นๆ

รู้จักกับเมนบอร์ด 3 รูปแบบยอดนิยม กันไปแล้ว ลองมาดูรูปแบบอื่นๆ ที่มีให้เลือกกันต่อเลยดีกว่า โดยมันก็ยังแตกต่างกันตามขนาดเหมือนเดิม

Extended-ATX (EATX)

เริ่มกันที่ EATX เมนบอร์ดแบบ EATX เป็นเมนบอร์ดที่ไม่ต่างจาก ATX มากนัก เพียงแต่ว่ามันจะ “ใหญ่กว่า” เดิมที EATX ออกแบบมาใช้กับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ หรือไม่ก็เครื่องระดับ Workstation ที่มีฮาร์ดแวร์ต้อง “เสียบ” เยอะกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไป

ภาพจาก https://forum.corsair.com/v3/showthread.php?t=161862

สมัยนี้เริ่มมีการนำ EATX มาใช้ทำเมนบอร์ดสำหรับเกมเมอร์กระเป๋าหนักกันมากขึ้น ด้วยความที่ตัวเมนบอร์ดมีขนาดใหญ่ ทำให้ต้องใช้เคสที่มีขนาดใหญ่ตามไปด้วย นั่นหมายถึงจำนวนช่องต่างๆ ที่เยอะกว่าเดิม, อากาศถ่ายเทในตัวเคสที่ดีขึ้น, พอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ที่ครบครัน ทำให้มันเหมาะกับการทำคอมฯ เล่นเกมที่มีประสิทธิภาพสูง

ส่วนใหญ่ ATX จะให้ช่อง PCI-E x16 มา 3–4 ช่อง แต่ใน EATX เรามักจะเห็น 5 ช่องเป็นอย่างต่ำ รุ่นแพงๆ อาจจะได้ถึง 8 ช่อง ในส่วนของ RAM บอร์ดแบบ ATX มักจะให้มา 4 ช่อง แต่ EATX เราอาจจะเจอได้ถึง 8 ช่อง
อย่างไรก็ตาม ราคาของเมนบอร์ดแบบ EATX ค่อนข้างแพงเอาเรื่อง ราคาเริ่มต้นก็หมื่นนิดๆ ไปจนถึงสามหมื่นบาทเลยล่ะ

DTX และ Mini-DTX

ATX นั้นถูกพัฒนาขึ้นมาโดยบริษัท Intel แต่ DTX ที่เรากำลังจะพูดถึงนี้เป็นฝีมือการพัฒนาของ AMD เปิดตัวเมื่อวันที่ 10 มกราคม ปี 2007 โดยออกแบบมาให้เป็นเมนบอร์ดขนาดเล็ก ที่รองรับการทำงานร่วมกับเคสแบบ ATX ได้ด้วย

รูปแบบ ขนาดของเมนบอร์ด Expansion Slots (PCIe) ATX 12 × 9.6 นิ้ว (305 × 244 มม.) 7 MicroATX 9.6 × 9.6 นิ้ว (244 × 244 มม.) 4 DTX 8 × 9.6 นิ้ว (203 × 244 มม.) 2 Mini-DTX 8 × 6.7 นิ้ว (203 × 170 มม.) 2 Mini-ITX 6.7 × 6.7 นิ้ว (170 × 170 มม.) 1

DTX มีเป้าหมายในการออกแบบให้เป็นเมนบอร์ดที่มีประสิทธิภาพสูงใกล้เคียงกับ ATX แต่ว่ามีขนาดเล็กใกล้เคียงกับ Mini-ITX ใหญ่กว่าแค่นิดหน่อย (ลองดูขนาดจากตารางด้านบน)

อีกจุดเด่น คือ ไม่ว่าจะ DTX หรือ Mini-ITX จะมี Expansion Slots ให้ 2 ช่อง โดยมักจะเป็นช่อง PCI Express 1 ช่อง กับช่อง PCi 1 ช่อง

พูดง่ายๆ ว่า Mini-DTX ถูกสร้างมาสำหรับคนที่ต้องการคอมฯ แรงๆ แต่ว่าขนาดเครื่องกะทัดรัดน่ารักประหยัดที่นั่นเอง อนึ่ง ราคาเมนบอร์ดแบบนี้ เท่าที่ไปส่องมาราคาไม่ถูกเท่าไหร่นะ

ภาพจาก https://www.asus.com/th/Motherboards/ROG-Crosshair-VIII-Impact/

BTX

ด้วยความที่เทคโนโลยี ATX มันออกมานานมาก และการออกแบบมีปัญหาเรื่องความร้อนสะสม ทำให้ Intel ออกแบบเมนบอร์ดรุ่นใหม่ในชื่อ BTX (Balanced Technology eXtended) ออกมาในช่วงปลายปี 2004

ในตอนนั้น CPU กำลังมีความเร็วสูงขึ้น ส่งผลให้ความร้อนระหว่างทำงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม BTX แจ้งเกิดไม่สำเร็จ เหตุผลก็เนื่องจาก ทาง Intel เองนี่แหละ ที่เปลี่ยนแนวคิดใหม่ เน้นการพัฒนา CPU ให้เร็วขึ้น แต่ใช้พลังงานน้อยลง ทำให้เกิดความร้อนน้อยลง BTX ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหานี้จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป กอปรกับมันเป็นของใหม่ทำให้มีฮาร์ดแวร์สนับสนุนน้อยกว่า ATX ที่อยู่มานานมากด้วย ทำให้เพียงแค่ 2 ปี BTX ก็ถูกพับโครงการเลิกพัฒนา

WTX

WTX ย่อมาจาก Workstation Technology Extended ออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ หรือ Workstations มีขนาดบอร์ด 14 × 16.75 นิ้ว (356×425 มม.) ใหญ่กว่า EATX เสียอีก

ออกแบบมาให้ระบายความร้อนได้ดีเป็นพิเศษ สามารถติดตั้ง CPU และ Hardisk ได้หลายตัว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหยุดพัฒนา ไม่มีรุ่นใหม่ออกมาแล้ว

ขอบคุณบทความดีๆ จาก THAIWARE

--

--

Tee Padungsak

บทความที่ลง เป็นบทความที่ไม่ได้เขียนขึ้นเอง เป็นการนำบทความที่มี่ความสนใจส่วนตัวมารวบรวมไว้อ่าน แล้วเก็บไว้ทบทวน ในทุกบทความจะมีเครดิตของแหล่งที่มาไว้ทุกอันครับ